เอกสารแนะนำความรู้เกี่ยวกับวัคซีนสำหรับประชาชน ไข้หวัดใหญ่ ป้องกันได้ด้วย วัคซีน
20 กรกฏาคม 2561 17:57 บทความทั่วไป สำนักงานสาธารณสุขอำเภอโนนสะอาด อ่าน 5044
โรคไข้หวัดใหญ่คืออะไร
ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า ซึ่งมีการระบาดเป็นช่วงๆ ในหน้าฝน และหน้าหนาว เป็นเชื้อที่มีโอกาสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงได้
การติดต่อ
โรคไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ทางการหายใจ ไอ จาม
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
อาการทั่วไปจะคล้ายไข้หวัดจากเชื้ออื่นๆ ทั่วไป แต่มีโอกาสที่จะมีอาการรุนแรง มีไข้ และเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากกว่า ผู้ป่วยจะมีน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ มีไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว โดยทั่วไปจะมีอาการ 2-3 วัน แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรง เช่น ปวดบวม และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หลังจากหายอาจมีอาการมึนงงไปอีกหลายสัปดาห์
วัคซีนไข้หวัดใหญ่...กับเรื่องที่ควรรู้
วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนชนิดฉีด ผลิตจากเชื้อที่ตายแล้วโดยผ่านกระบวนการผลิตที่มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ แต่ผู้ฉีดวัคซีนแล้วอาจเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ แต่อาการจะน้อยลง วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไม่ป้องกันไข้หวัดทั่วไปที่เกิดจากเชื้ออื่นๆ
ใครควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย
- หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
- เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย มะเร็งที่กำลังให้เคมีบำบัด เบาหวาน
- บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้พิการทางสมองช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
- โรคธาลัสซีเมีย ภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่มีอาการ)
- ผู้ที่น้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือ BMI ตั้งแต่ 35kg/m2
ควรฉีดวัคซีนเมื่อไหร่
สามารถฉีดได้ตลอดปี แต่ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ก่อนฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม) และก่อนฤดูหนาว (เดือนตุลาคม) เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มมีการระบาดของโรค
วัคซีนต้องฉีดซ้ำหรือไม่
วัคซีนต้องฉีดซ้ำทุก 1 ปี ถ้าต้องการป้องกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ที่รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นปีแรก ควรได้รับ 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 4 สัปดาห์
สังเกตอาการข้างเคียง
วัคซีนทุกชนิดสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ ปวดเมื่อย มักจะเริ่มไม่นานหลังฉีด อาการดังกล่าวควรหายภายใน 1-2 วัน การแพ้ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตมีน้อยมาก ถ้าหากเกิดขึ้นจะปรากฎภายใน 2-3 นาที ถึง 2-3 ชั่วโมงหลังฉีก โดยอาจมีอาการหายใจไม่สะดวก เสียงแหบ หรือหายใจมีเสียงดัง ลมพิษ ซีดขาว อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม หมดสติได้
การดูแลรักษาอาการข้างเคียง หากปวด บวมบริเวณที่ฉีด ให้ประคบด้วยผ้าเย็น หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ในชนาดที่เหมาะสม หากมีอาการรุนแรง หรือเป็นมาก ควรปรึกษาแพทย์ทันที และแจ้งอาการให้ทราบโดยละเอียด
ฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการข้างเคียงควรทำอย่างไร
หลังรับการฉีดวัคซีนควรเฝ้ารอสังเกตอาการข้างเคียงในสถานพยาบาลอย่างน้อย 30 นาที เมื่อกลับไปบ้านควรมีผู้ดูแลต่อไปอีก 2 วัน หากมีอาการข้างเคียง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งก่อนรับการฉีดวัคซีนครั้งต่อไป
ใครไม่ควรฉีดวัคซีนหรือควรเลื่อนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
- เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน
- คนที่มีประวัติแพ้ไก่ หรือไข่ไก่อย่างรุนแรง เพราะวัคซีนผลิตในไข่ไก่
- ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง
- หากมีไข้หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือโรคประจำตัวมีอาการกำเริบ ควบคุมไม่ได้ ควรเลื่อการรับวัคซีนไปก่อน
กรณีเป็นหวัดเล็กน้อย ไม่มีไข้ สามารถรับการฉีดวัคซีนได้
โรคไข้หวัดใหญ่ ป้องกันได้ ด้วยตัวเอง ดังนี้
- รักษาร่างกายให้แข็งแรง และอบอุ่น
- ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่
- เครื่องใช้ส่วนตัวไม่ควรใช้ปะปนกับผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนแออัด
- ไม่คลุกคลี หรือนอนร่วมกับผุ้ป่วยในระยะที่มีการระบาดของโรค
- ในกลุ่มเสี่ยงสูงควรรับการฉีดวัคซีนตามกำหนดเวลาที่แพทย์แนะนำเสมอ ในกรณีที่ไม่สามารถมารับการฉีดวัคซีนได้ตามทีกำหนด ควรรีบมารับการฉีดทันทีที่ทำได้
แหล่งข้อมุล : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข